ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟิก




ในชีวิตประจำวัน  เราได้พบเห็นรูปภาพต่างๆ มากมายอยู่ทั่วไป  เป็นต้นว่า  รูปภาพในกล่องหรือภาชนะบรรจุสินค้า  ภาพในนิตยสาร  ภาพในหนังสือเรียน  ภาพโฆษณาสินค้าตามป้ายรถเมล์และอีกมากมาย  รูปภาพเหล่านี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  กราฟิก (Graphic) คำศัพท์ภาษาอังกฤษ กราฟิก" แปลว่า  มีความหมายค่อนข้างจะกว้างมาก  ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับรูปภาพทั้งหมด  


ความหมายของคอมพิวเตอร์กราฟิก
คอมพิวเตอร์กราฟิก  คือกราฟิกที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์  เพื่อถ่ายทอดและสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของผู้สร้างผลงานไปยังผู้รับชม  โดยอาศัยวิธีการทางคอมพิวเตอร์ต่างๆ
ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้งาน  การสร้างกราฟิกจะอาศัยเครื่องมือแบบง่ายๆ  เช่น  พู่กัน  แปรง  ยางลบ  ไม้บรรทัด  กระดาษ  สีน้ำ  สีโปสเตอร์  แอร์บรัช (Air Brush) เป็นต้นหลังจากสร้างผลงานเสร็จแล้ว  ผลงานก็จะมีเพียงชิ้นเดียวไม่สามารถทำสำเนาได้  หรือถึงแม้ทำสำเนาขึ้นมาได้  ก็ไม่เหมือนผลงานชิ้นเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์  ผลงานภาพวาดของศิลปินที่มีชื่อเสียงและได้เสียชีวิตแล้วจึงมีราคาสูง  ผลงานเหล่านั้นนับวันก็จะเก่าลงและบุบสลายไปตามอายุขัยของวัสดุที่ใช้
ที่สำคัญคือ  การสร้างกราฟิกด้วยมือ  (ไม่อาศัยคอมพิวเตอร์)  เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นจะแก้ไขได้ยาก  ยกตัวอย่างเช่น  ในการวาดภาพหากระบายสีผิด  การแก้ไขคือ  การพยายามลบสีที่ระบายผิดนั้นทิ้งไปหรือนำสีอื่นมาระบายทับ  แต่ก็เป็นการยากที่จะทำให้ผลงานชิ้นนั้นไร้รอยตำหนิจากความผิดพลาดนั้นได้  หรืออาจจะต้องลงมือวาดใหม่ทั้งหมดเลยก็เป็นได้
ปัจจุบันได้มีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการสร้างงานกราฟิก  ทำให้เกิดความสะดวกสบายหลายๆ อย่าง  ทั้งเรื่องการทำสำเนา  หรือการแก้ไขข้อผิดพลาด  ก็สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว  ทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานมีความมั่นใจ  และกล้าที่จะลองผิดลองถูกมากขึ้น
แต่ด้านมือของการสร้างกราฟิกในคอมพิวเตอร์ก็มีไม่แพ้ประโยชน์อย่างน้อยๆข้อเสียก็คือการคัดลอกหรือทำสำเนาได้ง่าย  ทำให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์กันบ่อยครั้ง  แม้จะมีคิดค้นทำ  Water Mark  เพื่อป้องกันลิขสิทธิ์ดังกล่าว  แต่ก็ไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์


ประวัติของคอมพิวเตอร์กราฟิก
ต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์กราฟิก เริ่มต้นจากการสร้างจอภาพของคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแสดงผลด้วยเครื่องพิมพ์  เพื่อเพิ่มความเร็วในการปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ต่อผู้ใช้  จอภาพที่สร้างขึ้นมา  เรียกว่า  จอภาพ  CRT (Cathode  Ray  Tube)  พัฒนาขึ้นมาโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซูเซ็สต์ (MIT : Massachusettes Institute  Technology) เมื่อปี ค.ศ. 1950 ซึ่งยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องและใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน  จอภาพคอมพิวเตอร์นี้มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับจอภาพของโทรทัศน์
ในสมัยก่อนการวาดภาพด้วยคอมพิวเตอร์ยังคงเป็นเรื่องยากกว่าการวาดภาพลงบนกระดาษด้วยปากกามาก  เนื่องจากคอมพิวเตอร์ต้องอาศัยแป้นพิมพ์หรือเมาส์ในการป้อนข้อมูล ในปี ค.ศ. 1963  อีวาน  ซูเธอร์แลน  (Ivan Sutherland) จึงได้ประดิษฐ์ปากกาแสง (Light Pen ) ขึ้นมา  มีลักษณะเหมือนปากกาธรรมดา  แต่เมื่อวาดด้วยปากกาแสงนี้บนแผ่นรองรับพิเศษจะสามารถปรากฏเป็นภาพบนหน้าจอได้ประดุจการวาดภาพบนกระดาษด้วยปากกาธรรมดา  นอกจากนั้นเขายังได้คิดค้นหลักและวิธีการวาดภาพกราฟิกคอมพิวเตอร์  และโครงสร้างข้อมูลของคอมพิวเตอร์กราฟิกขึ้นมาใช้งานอีกด้วย
เนื่องจากจอภาพคอมพิวเตอร์ในยุคแรกๆ  ไม่สามารถรักษาภาพบนจอภาพให้คงทนอยู่ได้และจะจางหายในเวลาไม่กี่วินาทีต่อมาจึงต้องมีการวาดภาพนั้นซ้ำใหม่ตลอดเวลา  ทำให้เสียเวลาและทำให้การประมวลผลช้า  อีกทั้งจอภาพในยุคนั้นยังคงมีราคาแพง
ในปี ค.ศ. 1968 บริษัท  เทคโทรนิกส์ (Tektronix) ได้ประดิษฐ์จอภาพที่แสดงได้คงทนโดยไม่ต้องวาดซ้ำหรือสั่งให้สร้างภาพใหม่  เรียกว่า  Storage – Tube CRT  ทำให้จอภาพมีราคาถูกลง  และนิยมใช้กันทั่วไป
ในปี ค.ศ. 1970 มีการแข่งขันทางอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กันเป็นอย่างมาก  ทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ราคาถูกลง  และเทคโนโลยีเกี่ยวกับจอภาพก็พัฒนามากขึ้นตามลำดับ  สำหรับด้านซอฟต์แวร์  ในปี 1972  ปิแอร์ บาเซียร์ (Pierre Bazier)  ได้อาศัยทฤษฎีของ สตีเวน คูนส์ (Steven Coons)  คิดค้นการสร้างเส้นโค้งและภาพพื้นผิวอันเป็นพื้นฐานสำหรับภาพ 3 มิติในปัจจุบัน


บทบาทของคอมพิวเตอร์กราฟิก
คอมพิวเตอร์กราฟิกกำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น แทนที่การสร้างกราฟิกด้วยมือ  ด้วยวิธีการอันทันสมัย  การอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการสร้าง  อีกทั้งผลงานที่ได้ก็สวยงาม คมชัด  แต่ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกราฟิกด้วยคอมพิวเตอร์หรือสร้างด้วยมือต่างก็มีคุณค่าของผลงานไปคนละแบบ  ไม่ด้อยกว่ากัน  แต่คอมพิวเตอร์กราฟิกดูเหมือนจะได้เปรียบตรงที่ว่ามีขั้นตอนการสร้างที่ง่าย  สะดวก  รวดเร็วกว่า  อีกทั้งยังสามารถทำสำเนาได้ง่ายและไม่จำกัด
บทบาทของคอมพิวเตอร์กราฟิกในด้านต่างๆ มีดังนี้
  1. ด้านบันเทิง
  2. ด้านการประชาสัมพันธ์
  3. ด้านการศึกษา
  4. ด้านธุรกิจการค้า
  5. ด้านอื่นๆ


บทบาทด้านบันเทิง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้วงการบันเทิงต่างก็นิยมที่จะใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารบันเทิง  ภาพปกเทป  ภาพปกซีดี  Hand Billภาพยนตร์หรือโปสเตอร์ภาพยนต์  ซึ่งคอมพิวเตอร์กราฟิกสามารถสร้าง Special Effect ขึ้นมาได้ง่าย  ช่วยดึงอารมณ์ของผู้ชมให้ตื่นเต้นเร้าใจกว่าภาพรูปแบบธรรมดา  คอมพิวเตอร์กราฟิกจึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในวงการบันเทิง  และดูเหมือนจะขาดไม่ได้




รูปที่ 1  ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก




รูปที่ 2  การทำหน้าปก CD โดยอาศัยคอมพิวเตอร์กราฟิก


แม้แต่ภาพนายแบบหรือนางแบบที่ลงในนิตยสาร  หากถ่ายภาพออกมาแล้วภาพดูไม่สวยอาจเกิดจากแสงเงาไม่พอดี  หรือมีรอยสิว  หรือแผลบนใบหน้า  ก็สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิกปรับแต่งให้ดูดีและเนียนขึ้นมาได้




รูปที่ 3  การลบรอยสิว แผลเป็น หรือริ้วรอย ด้วยเครื่องมือ Heal Brush
คอมพิวเตอร์กราฟิกยังสามารถสร้างความบันเทิงที่สำคัญและทุกคนรู้จักกันดีอีกอย่างหนึ่ง  คือ  เกมคอมพิวเตอร์กราฟิก  ซึ่งปัจจุบันเกมคอมพิวเตอร์กราฟิกพัฒนาขึ้นไปกว่าเดิมมากแต่ก่อนเป็นเกมภาพแบบ 2 มิติ  ปัจจุบันสามารถสร้างภาพแบบ  3 มิติ  เพื่อความสมจริง  และเพิ่มอรรถรสในการเล่นให้มากยิ่งขึ้น
ต่อมายังได้มีการนำเกมคอมพิวเตอร์มาประยุกต์กับระบบเครือข่าย จนทำให้กลายเป็นเกมออนไลน์  ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นเกม  Counter  Strike , Ragnarok เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าคอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก
บทบาทด้านประชาสัมพันธ์
การใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกประกอบในการประชาสัมพันธ์จะช่วยทำให้เกิดความน่าสนใจแก่ผู้ชม  สื่อหลายชนิดที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์สามารถใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกประกอบหรือสร้างมาจากคอมพิวเตอร์กราฟิกทั้งหมดก็ได้  เช่น  แผ่นพับ  แผ่นโฆษณา  ใบปลิว  เป็นต้น
ภาพโฆษณาหรือภาพในแผ่นพับที่เราเห็นนั้น  บางครั้งก็เป็นภาพที่จัดแต่งหรือทำขึ้นมาเองโดยใช้คอมพิวเตอร์  เนื่องจากภาพบางภาพไม่สามารถที่จะจัดองค์ประกอบของภาพให้ครบถ้วนตาม Concept  ที่วางไว้  ดังนั้นจึงต้องมีบางส่วนของภาพ  ที่จัดทำขึ้นมาเองด้วยคอมพิวเตอร์  
นอกจากนั้น  การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ด้วยคอมพิวเตอร์ยังช่วยให้สามารถแก้ไข  ปรับปรุงต้นฉบับสื่อได้ง่าย  อีกทั้งยังสามารถสำเนาแจกจ่ายได้ไม่จำกัดจำนวนอีกด้วย
บทบาทด้านธุรกิจการค้า
ธุรกิจการค้าในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยคอมพิวเตอร์กราฟิกในการตกแต่งเพื่อจะทำให้บรรจุภัณฑ์ของสินค้าดูดี  มีราคาและน่าซื้อ  จะเห็นได้ว่า  กล่อง  หีบห่อ  หรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้าส่วนใหญ่มักจะมีรูปภาพประกอบ  ส่วนจะวางภาพอยู่ในตำแหน่งใดก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต  สินค้าที่ออกแบบดี  มีภาพประกอบสวย  ได้สัดส่วน  จะช่วยทำให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจในตัวสินค้าเมื่อแรกเห็น  ซึ่งแม้จะยังไม่เคยลองใช้หรือรู้สรรพคุณสินค้า  แต่ก็สามารถช่วยเป็นแรงจูงใจทำให้ผู้บริโภคอยากลองซื้อไปทดลองใช้
คอมพิวเตอร์กราฟิกยังสามารถสร้างอาชีพให้แก่ผู้ที่มีความชำนาญในด้านนี้ได้  โดยอาจจะรับจ้างออกแบบผลิตภัณฑ์  หรือออกแบบบรรจุภัณฑ์  หรือสร้างสื่อต่างๆ  อันจะก่อให้เกิดชื่อเสียงและรายได้ตามมา
บทบาทด้านการศึกษา
คอมพิวเตอร์กราฟิกสามารถใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะการจัดทำสื่อการสอนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งในการเรียนการสอน  สื่อการสอนที่ประกอบไปด้วยตัวหนังสือเป็นจำนวนมาก  บางครั้งก็ไม่สามารถจะทำให้นักศึกษาหรือผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่กระจ่างชัดได้  เหมือนประโยคที่ว่า   ภาพเพียงภาพเดียว  อธิบายได้ดีกว่าคำนับพัน
ในตำราเรียนหรือเอกสารประกอบการเรียนทั่วๆ ไป  ก็อาศัยคอมพิวเตอร์กราฟิกในการบรรยายขั้นตอนวิธีทำด้วยรูปภาพ  ที่เห็นกันอยู่ทั่วไปและได้รับความนิยมก็คือ  ตำราเกี่ยวกับวิธีการใช้งานซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์  โดยจะอธิบายขั้นตอนวิธีทำด้วยรูปภาพทำให้ผู้อ่านสามารถลงมือปฏิบัติตามตำราทีละขั้นตอนได้
สำหรับสื่อการสอนที่จัดทำได้ง่ายและนิยมใช้กันทั่วไป  ได้แก่  สื่อการสอนที่สร้างจากโปรแกรม  Powerpoint ลักษณะของสื่อการสอนชนิดนี้จะประกอบด้วยสไลด์ต่างๆ  รวมเป็นชุดบางครั้งการนำภาพประกอบสไลด์ก็มีประโยชน์แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจเป็นโทษได้  ข้อดีและข้อเสียของการสร้างสไลด์โดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกประกอบ  มีดังนี้
ข้อดี
  • ทำให้สื่อการสอนมีความสนใจและไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย
  • เสริมคำอธิบาย  ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น
  • ช่วยให้ผู้เรียนไม่ต้องเพ่งอ่านหนังสือมากจนเกินไป  ทำให้เกิดการผ่อนคลาย
  • ลดจำนวนคำอธิบายด้วยหนังสือ
  • เพิ่มสีสันในการเรียนการสอน
  • ทำให้สื่อการสอนสวยงาม  น่าประทับใจ
แต่หากใช้ภาพกราฟิกประกอบมากจนเกินพอดีอาจจะเป็นผลเสียได้  ดังนี้
ข้อเสีย
  • เกะกะ  รุงรัง  ทำให้อ่านหนังสือยาก
  • อาจทำให้เกิดความรำคาญแก่ผู้เรียน
  • ถ้าแทรกภาพที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาที่สอน  จะทำให้ผู้เรียนหันเหความสนใจไปในทางอื่น
  • หากนำไปจัดพิมพ์ก็จะสิ้นเปลืองหมึกพิมพ์โดยไม่เกิดประโยชน์
บทบาทด้านอื่นๆ
คอมพิวเตอร์กราฟิกยังสามารถใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  เป็นต้นว่า  ใช้ในด้านวิทยาศาสตร์และการค้นคว้าวิจัย  ด้านการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม  ด้านรณรงค์  เชิงอนุรักษ์  ด้านการแพทย์  เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าแทบทุกวงการ  สามารถนำคอมพิวเตอร์กราฟิกไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งสิ้น  ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจที่ผิดกฎหมาย  เช่น  เว็บไซต์ภาพลามก  อนาจาร  ดังนั้นหลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟิกแล้ว  ควรใช้ความรู้เหล่านี้ในเชิงสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงาม ละเว้นสิ่งผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม  อันจะช่วยทำให้ภาพพจน์และบทบาทของคอมพิวเตอร์กราฟิกต่อสังคมมีแต่แง่ดีและเจริญรุ่งเรือง  ส่วนคุณค่าของคอมพิวเตอร์กราฟิกนั้นสามารถอ่านเพิ่มเติมได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น